เชื่อว่าคนที่อ่านบทความส่วนมากแล้วมีงานประจำทำกันหรือที่เรียกกันว่าพนักงานเงินเดือน แล้วก็เชื่อว่าในบางจังหวะชีวิตก็จะเกิดคำถามขึ้นมาอยู่ในหัวอยู่หลาย ๆ คำถามด้วยกัน ลองดูตัวอย่างดังนี้
- เราจะต้องทำงานไปจนถึงเมื่อไหร่ ?
- ทำอย่างไรเราถึงจะมีเงินเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ?
- เราจะมีเงินเหลือเก็บเดือนละเท่าไหร่ ?
- ถ้าเราอยากเกษียณตัวเองเราน่าจะมีเงินเก็บทั้งหมดเท่าไหร่ ?
เชื่อแน่ว่าใครที่คิดถึงอนาคตของตัวเอง ย่อมต้องมีความกังวลและมีคำถามเหล่านี้เกิดขึ้น อาจจะไม่ตรงตามนี้ทั้งหมด หรืออาจจะมากมายหลายคำถามกว่านี้ แล้วเราเคยได้คำตอบจากคำถามเหล่านี้หรือไม่ครับ ?
แน่นอนในภาวะปัจจุบันเราต้องหาเงิน เราต้องใช้เงิน เราต้องเก็บออม แต่ว่าออมเท่าไหร่ล่ะ เมื่อเราหมดซึ่งเรี่ยวแรงที่จะทำงานแล้วเราถึงจะอยู่ได้อย่างไม่ลำบากมากมาย ลองดูตารางตามด้านล่างนี้ครับ สมมติง่าย ๆ เลยว่าเราต้องใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท (ค่าเงินปัจจุบัน) และให้อัตราเงินเฟ้อที่คงที่เลยคือ 3% ต่อปี และเราจะเกษียณตัวเองเมื่อายุ 55 ปี เรามาดูกันว่าเราต้องเริ่มออมเงินเดือนละเท่าไหร่
จากตารางเราเห็นข้อสังเกตุได้ 3 ข้อครับคือ
1.จำนวนเงินที่เก็บออมในแต่ละเดือน ถ้าเก็บมากแน่นอนย่อมมีเงินสะสมมาก (หลายคนก็จะบอกว่า จะเก็บให้ได้มากได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้ก็ใช้เดือนชนเดือนอยู่แล้ว ซึ่งอยากจะแนะนำอย่างงี้ครับให้เราออมก่อนใช้ อย่าเหลือใช้แล้วจึงออมครับ ข้อนี้จะช่วยได้)
2.อัตราผลตอบแทน จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนที่ห่างกันเพียง 2% ต่อปี แต่ทำให้ภาระการเก็บออมแต่ละเดือนนั้นห่างกันมากมายเหลือเกิน (แล้วจะทำอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นการต้องเอาเงินออมของเราไปลงทุนครับ ให้เงินของเราทำงานให้เราบ้างไม่ใช่ว่าเราต้องทำงานเหนื่อยอย่างเดียว)
3.ถ้าเราเริ่มเก็บออมอย่างเร็ว เราจะใช้เงินออมเดือนละไม่สูงมากครับ (วันรุ่นวัยทำงานชอบละทิ้งข้อได้เปรียบนี้ครับ โดยมีความเชื่อที่ว่า ยังหนุ่มยังแน่นมีเรี่ยวแรงหาเงิน ก็หาเงินแล้วก็ใช้เงินให้คุ้มค่า ส่วนเงินเก็บเดี๋ยวอายุเยอะขึ้นตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้นค่อยเก็บออม ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ค่อยเข้าท่าเลยถ้าดูจากตารางนี้)
จากทั้ง 3 ข้อนี้คงปฏิเสธเรื่องที่เราต้องลงทุนไม่ได้ใช่หรือไม่ครับ ? จะเอาเงินไปฝากธนาคารเดือนละ 2,000 กว่าบาท ก็เห็นจะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ดอกเบี้ย 8% ต่อปีจริงไหม หลายคนกลัวเหลือเกินกับการลงทุน เพราะตลอดเวลาเราจะได้ยินคำพูดที่ว่า "การลงทุนคือความเสี่ยง" ซึ่งมันก็เป็นข้อความที่เป็นความจริงครับ (ดูจากตลาดหุ้นที่ผันผวนขึ้นลงวันนึงอย่างกับรถไฟเหาะตีลังกา ราคาทองคำที่ไหลพรูดรูดลงยังกะตกเหว) แต่เราสามารถลดความเสี่ยงของการลงทุนของเราได้ เริ่มต้นจากการเรียนรู้ หาระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รับได้มากก็ลงทุนในหุ้น ทองคำ อนุพันธ์ ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยก็ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมตราสารหนี้ หรือที่กำลังมาแรงในตอนนี้ก็คือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
ลองดูกราฟผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมาดูครับ
จะเห็นได้ว่าการลงทุนมีให้เลือกมากมายครับ แถมเรายังกำหนดความเสี่ยงที่เรารับได้ตามประเภทของการลงทุนได้อีก ถ้าเราเริ่มต้นเรียนรู้ เริ่มต้นเก็บออม เริ่มต้นวางแผน สบายใจได้เลยว่าชีวิตหลังเกษียณของเราจะสุขสบาย ไม่เป็นภาระของลูกหลานอีกด้วย
"การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเลยเสี่ยงกว่า" -champsiwa-